คำถามยอดฮิต! เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้หรือไม่?

เป็นเรื่องที่น่าสนใจกันมานานว่า เขื่อนเกี่ยวข้องโดยตรงกับแผ่นดินไหวหรือไม่ ผมขอเอาข้อมูลมาเล่าในฐานะคนนอกที่ไม่ได้ทำงานด้านนี้โดยตรงนะครับ

(ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก wikipedia , http://www.internationalrivers.org , google books , Earthquake causes by dams

ในบรรดาปัจจัยที่มนุษย์สร้างขึ้นและสามารถกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวได้นั้นพบว่ามีดังนี้

1.การสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่

2.การทำเหมือง ทำให้เกิดการเสียสมดุลย์ภายในชั้นหิน

3.การสูบน้ำมันจากชั้นหินไปใช้ แล้วเกิดการปนเปื้อนของน้ำลงไปในชั้นน้ำใตดิน

4.การผลิตไฟฟ้าจากความร้อนใต้ผิวโลก (Enhanced geothermal systems, EGS)

โดยการสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่นี้ เราพบความสัมพันธ์ที่เกิดแผ่นดินไหวตามมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1932 หลังการสร้างเขื่อน Oued Fodda ในประเทศแอลจีเรีย เมื่อระดับน้ำที่กักเก็บเพิ่มขึ้นก็เกิดแผ่นดินไหวตามมา

ตัวอย่างของแหล่งเก็บน้ำที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว จะขอยกตัวอย่างเพียงบางส่วนนะครับ เพราะจริงๆแล้วมีรายงานค่อนข้างหลายที่ในช่วงที่ผ่านมาทีเดียว

1. เขื่อน Oued Fodda ในประเทศแอลจีเรีย ภายหลังเริ่มใช้งานพบแผ่นดินไหวบ่อยขึ้น ในปีค.ศ. 1932 ซึ่งนักธรณีเชื่อว่าเกิดจากการซึมของน้ำลงไปในจุดที่ชั้นดินแห้งภายใต้เขื่อน

2.ทะเลสาบ Kremasta ในประเทศกรีก เริ่มมีการเพิ่มปริมาณเก็บน้ำตั้งแต่ปีค.ศ.1965 พบความถี่การเกิดแผ่นดินไหวบ่อยขึ้น มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวระดับ 6.3 ริกเตอร์ก่อนที่ระดับน้ำจะเต็มสูงสุด หลังจากนั้นในปีเดียวกันพบ after shock ระดับ 5 ริกเตอร์ขึ้นไปอีก 6 ครั้ง

ภาพแสดงระดับน้ำ (กราฟเส้นตรง) และระยะเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวที่ทะเลสาบ Kremasta

3.ทะเลสาบเหนือเขื่อน Monteynard ในประเทศฝรั่งเศส เริ่มมีการกักเก็บน้ำในปีค.ศ.1962 แบะระดับน้ำสูงสุดเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 1963 มีรายงานแผ่นดินไหว 4.9 ริกเตอร์ 25 เม.ย. 1963 และ 4.4 ริกเตอร์ ในอีก 2 วันถัดมา หลังจากนั้นเกิดแผ่นดินไหวเป็นชุดในช่วงปี 1966 หลังจากที่ระดับน้ำสูงสุดอีกครั้ง ซึ่งสภาพธรณีวิทยาของบริเวณใต้เขื่อนนี้ค่อนข้างซับซ้อนและเคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนหน้านี้แล้ว

4.ทะเลสาบ Kariba พรมแดนประเทศโรดีเซียและแซมเบีย ในปี 1958 ซึ่งบริเวณที่ก่อสร้างนี้ไม่เคยมีรายงานแผ่นดินไหวมาก่อนหน้าที่จะเริ่มกักเก็บน้ำในปีค.ศ.1958

แสดงแผนที่ของทะเลสาบ Kariba และตำแหน่งเกิดแผ่นดินไหว โดยกระจกที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยเป็นจุดที่ลึกสุดของทะเลสาบ

กราฟแสดงความสััมพันธ์ของระดับน้ำกับการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณนี้ซึ่งค่อยๆลดการเกิดลงหลังเวลาผ่านไป

4.เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี อันนี้ขอเอาข้อมูลมาให้ดูนะครับ ไม่ขอวิเคราะห์เพราะลักษณะของกราฟบอกได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าแผ่นดินไหวเกิดถี่ในช่วงที่เริ่มกักเก็บน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปก็ลดจำนวนและความรุนแรงลง

5.เขื่อน Xinfengjiang ประเทศจีน ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ริกเตอร์ที่เกาะฮ่องกงเมื่อ 16ก.พ. 2012 ที่ผ่านมา ซึ่งนักแผ่นดินไหวจีนเชื่อว่า เขื่อนเดียวกันเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.1 ริกเตอร์เมื่อปี 1962 หลังจากที่เขื่อนเริ่มกักเก็บน้ำในปี 1959 แต่เชื่อว่าไม่น่าที่จะเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงไปกว่านี้แล้ว

จะเห็นว่าจากตัวอย่างที่ยกมา การก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ มีผลต่อการเกิดแผ่นดินไหวตามมาทั้งสิ้น เพราะเมื่อนน.น้ำที่ถูกกักเก็บเป็นปริมาณมหาศาล กดลงไปบนแผ่นเปลือกโลก อาจเกิดการแตกหรือร้าวของแผ่นเปลือกโลก และนำไปสู่แผ่นดินไหวตามมา ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ความรุนแรงและความถี่ของแผ่นดินไหวจะค่อยๆลดลง ซึ่งเป็นผลจากการที่เปลือกโลกบริเวณนั้นมีการปรับตัวสู่สมดุลย์ใหม่ได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากการศึกษาชั้นธรณีวิทยาก่อนการสร้างเขือน การออกแบบลักษณะของเขื่อนให้เข้ากับภูมิประเทศและโอกาสเกิดแผ่นดินไหวแล้ว เราควรให้ความรู้และคำแนะนำกับผู้ที่อาศัยในบริเวณเขื่อนให้เข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือการเกิดแผ่นดินไหวที่ตามมาด้วย ซึ่งบางครั้งอาจเกิดความรุนแรงในระดับสูงได้ การศซักซ้อมความเข้าใจ การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติรูปแบบนี้ไม่ได้เกินความสามารถของมนุษย์เราเลย

ตอนหน้ายังมีงานวิจัยที่น่าสนใจของอินเดียอีกงานหนึ่งที่ศึกษาถึงการสร้างแหล่งเก็บน้ำกับการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลก ไว้เราจะมาดูกันครับ